พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ กีฬาเรือใบ

Release Date : 13-01-2022 11:13:10
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ กีฬาเรือใบ

“การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน
เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้
แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบา เราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่งแล้ว
ถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร
เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น
ถ้าเราเป็นตัวนี้
 เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้
ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

 



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษและทรงมีพระปรีชาสามารถในการแล่นใบ  รวมทั้งมีพระอัจฉริยภาพในการต่อเรือใบด้วยพระองค์เองซึ่งเรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อเป็นเรือ ประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์  พระราชทานชื่อเรือว่า  “ราชประแตน” ทรงต่อเรือใบโอเคลำแรกชื่อ “นวฤกษ์” ทรงจัดตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้น คือ หมวดเรือใบหลวงจิตรลดา ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และสโมสรเรือราชวรุณที่เมืองพัทยา นอกจากนี้ยังได้ทรงออกแบบเรือใบขึ้นอีกประเภทหนึ่ง  พระราชทานชื่อว่า เรือมด  ซึ่งได้ทรงจดลิขสิทธิ์ที่ประเทศอังกฤษเป็นประเภท INTERNATIONAL MOTH CLASS ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่ โดยได้พระราชทาน ชื่อว่าเรือใบ“ซูเปอร์มด” และเรือใบ“ไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นใบ     

 
 
         เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ชื่อ เวคา จากหน้าวังไกลกังวล ข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวสัตหีบ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เองเพียงพระองค์เดียว  ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง 17 ชั่วโมงเต็ม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำธง ราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วยปักเหนือของก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก  ต่อมาในปีเดียวกัน ได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร แก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจำปี ของสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน   
 
 
 
 
 
         ในปี พ.ศ.2510  เมื่อ  วันที่ 16 ธันวาคม  พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในกีฬาเรือใบ  ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ปวงชนชาวไทยก็คือ ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จขึ้นบนแท่นรับเหรียญรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ซึ่งชัยชนะครั้งนั้น  ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบให้เป็นที่ประจักษ์ เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกและพระองค์เดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับและจารึกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลก และต่อมาใน วันที่ 14 ธันวาคม 2530 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล คือ อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง) นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ได้รับเกียรติยศดังกล่าว
 
 
 
        เมื่อเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนิน  ไปทรงเรือใบร่วมกับข้าราชบริพารและนายทหารเรือเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นประจำ ระหว่างทีมสโมสรจิตรดา และทีมราชนาวี โดยทั้งสองทีมจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในทุก ๆ ปี โดยจะจัดการแข่งขันในห้วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล  และทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง
 
 
 
          เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน "วันกีฬาแห่งชาติ"  ตราบจนปัจจุบัน